ประวัติความเป็นมา
วัดเพลงกลางสวน
ประวัติ
วัดเพลง (กลางสวน) ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดที่ชัดเจน พบเพียงคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ว่า เมื่อครั้งไทยกับพม่าทำศึกสงครามกันอยู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยทรงนำกองทัพทหารมาพักแรมอยู่ในละแวกนี้ ส่วนหนึ่งไปพักที่บริเวณวัดสะพาน อีกส่วนหนึ่งไปพักที่บริเวณวัดประสาท ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ใช้สถานที่วิหารหลวงพ่อตาแดงเป็นที่ประทับของพระองค์เอง
จนถึงยุคสิ้นสุดสงครามกับพม่า บริเวณนี้จึงมีผู้คนทยอยเข้ามาอาศัยอยู่กันมากขึ้น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผักผลไม้ วัดเพลงมีผลไม้หลากหลายชนิด มีความสงบร่มเย็น มีคลองเล็กๆล้อมรอบ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของวัดมีคลองเชื่อมถึงกัน ซึ่งสามารถพายเรือลัดเลาะออกไปได้จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
มีเรื่องราวเล่าขานกันต่อๆมาว่า ความขึ้นชื่อของผลไม้วัดเพลงในสมัยนั้นทำให้เหล่านางสนมกำนัลของวังนันทอุทยาน (ที่ตั้งนันทอุทยานสโมสร ปัจจุบัน) ล่องเรือพากันมาหาผลไม้กินและนำกลับไปในวังกันอยู่เนืองๆ เนื่องจากบริเวณนี้มีความร่มรื่น นางสนมกำนัล ที่มาถึงวัดเพลง จึงชอบมานั่งพักผ่อนบริเวณวัด และมักจะแวะนั่งเล่นกันบนต้นไม้บริเวณที่สร้างอุโบสถและวิหารหลวงพ่อตาแดง จนลำต้นเอนเอียงใกล้เคียงกับพื้นดิน เคยมีต้นยางใหญ่เอนปรากฎให้เห็นอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของอุโบสถ
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ปีพุทธศักราช ๒๓๗๐ มีผู้ศรัทธาสร้างอุโบสถ (หลังเดิม) มีลักษณะเป็นแบบเก๋งจีนที่นิยมสร้างกันในสมัยนั้น วัดเพลงกลางสวนจึงเจริญขึ้นมาตามสมควร จนกาลเวลาผ่านมาประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ วัดขาดผู้ทำนุบำรุง ทำให้อาคารเสนาสนะต่างๆ ชำรุดทรุดโทรม เป็นวัดร้างไปในที่สุด และกลายเป็นป่าช้า สุสาน เผาและฝังศพ ที่เก็บโครงกระดูกของผู้คนที่เสียชีวิตในละแวกนี้ในเวลาต่อมา วัดเพลงกลายเป็นวัดร้างอยู่หลายสิบปี นานๆจะมีผู้คนผ่านมาสักครั้งหนึ่ง
ตามคำบอกเล่าของ คุณยายบรรจง ทองประศรี ผู้ที่เคยอาศัยอยู่บริเวณนี้ และทำสวนในที่ดินซึ่งเป็นบริเวณวัดเพลงมาก่อน บอกเล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นเท่าที่จำได้ เคยพบเห็นพระภิกษุผ่านมาบริเวณนี้ไม่กี่รูป ครั้งหนึ่งก็มีพระอาจารย์ถวิล พระอาจารย์ผิน พระอาจารย์จรูญ และพระอาจารย์สง่า เคยมาปักกลดบริเวณวัดร้างแห่งนี้ หลังจากนั้นไม่ปรากฏพระรูปใดผ่านมาอีก ยิ่งประชาชนชาวบ้านธรรมดาด้วยแล้ว ไม่มีใครกล้าที่จะเข้ามา จนมีคำล่ำลือกันว่าวัดเพลงผีดุ เป็นที่รู้กันทั่วไป
ต่อมา ระแวกนี้ได้มีผู้คนค่อยๆเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ พระสมุห์ทองใบ ติกฺขวีโร มานำพุทธศาสนิกชนร่วมกัน พัฒนาทำนุบำรุงสร้างเสนาสนะขึ้นใหม่ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้วัดเพลง (วัดร้าง) เป็นวัดเพลง (กลางสวน) เป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ประจำพรรษาอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๒ วัดเพลง (กลางสวน) จึงค่อยๆกลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ตราบเท่าทุกวันนี้
วัดเพลงกลางสวน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๒ ถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย ๔ แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ปัจจุบันประมาณ ๙ ไร่ ๓ งาน
พื้นที่ของวัดเพลง อดีต เป็นที่ราบลุ่ม ทางเข้าวัดอยู่ทางทิศเหนือ แวดล้อมไปด้วยลำปะโดงกั้นเขตวัด การคมนาคมมีซอยแยกจากถนน สายวัดแก้ว – พุทธมณฑล สาย ๑
ปัจจุบัน ทางเข้าด้านหน้าวัดอยู่ทางทิศใต้ ติดถนนถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย ๔ ด้านหลังวัดเข้าทางซอยบางพรม ๓๓ ถนนบางพรม ติดต่อกับพุทธมณฑลสาย ๑
อาคารเสนาสนะ
๑. อุโบสถ เดิมเป็นทรงเก๋งจีนที่ทรุดโทรมลงไป จึงได้สร้างขึ้นใหม่เป็นอุโบสถทรงใหม่ หลังคา ๒ ลด มีบานประตูหน้าต่างเป็นไม้สัก กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ภายในอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทองเหลือง หน้าตักกว้าง ๒ ศอก (หลวงพ่อสิน) มีพระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร ขนาบข้างพระประธาน
๒. วิหารหลวงพ่อตาแดง เดิมเป็นวิหารทรงไทยหลังคาไม้ ต่อมาได้บูรณะขึ้นใหม่เป็นทรงปัจจุบันในกาลต่อมา ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางสมาธิ (หลวงพ่อตาแดง) เป็นประธาน หน้าตักกว้าง ๕๙ นิ้ว มีพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๔๓ นิ้ว ๒ องค์ ขนาบข้างซ้ายขวา ด้านหน้ามีพระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร และพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรองค์ใหญ่ สูง ๗๙ นิ้ว องค์เล็ก สูง ๖๑ นิ้ว อีก ๒ องค์
เจ้าอาวาสวัดเพลงกลางสวน
นับเฉพาะระยะหลังจากที่ได้รับการยกขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ประจำอยู่ มีดังนี้
๑. พระสมุห์ทองใบ ติกฺขวีโร
๒. พระอธิการสมศักดิ์ ทีปธมฺโม
๓. พระครูสังฆรักษ์ณรงค์
๔. พระอธิการบุญรอด ถิรปุญฺโญ
๕. พระครูอาทรกิจจาภิรักษ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๗
๖. พระครูสังฆรักษ์สระ ฐิตปุญฺโญ พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๒
๗. พระครูภาวนาธีรวรคุณ วิ. (ไพรัช) พ.ศ. ๒๕๕๒ ถึงปัจจุบัน
ประวัติหลวงพ่อตาแดง
หลวงพ่อตาแดง เดิมท่านมีชื่อว่าอะไร สร้างขึ้นในสมัยไหน ไม่มีหลักฐานปรากฏชัด มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อๆกันมาว่า เมื่อวัดเพลงยังเป็นวัดร้าง หลวงพ่อตาแดง เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดมีความเดือดร้อนทุกข์ใจก็มักจะมาขอพรจากหลวงพ่อ ผู้ที่มาแล้วกลับไปมักจะประสพสมสิ่งประสงค์ตามคำอธิษฐานของตนทุกประการ จนเป็นที่เลื่องลือกันทั่วว่าหลวงพ่อมีความศักดิ์สิทธิ์ บางคนก็มาเสี่ยงทายขอหวยจากหลวงพ่อ กลับไปก็ถูกหวยติดต่อกันหลายงวด ทำให้ขุนบาล (คำเรียกเจ้ามือหวยในสมัยนั้น) หมดตัวไปตามๆกัน ทำให้ผู้ที่เสียประโยชน์หาวิธีมาแก้เคล็ด โดยนำตะปูมาตอกที่ตาของหลวงพ่อ แต่ปรากฏว่าตอกไม่เข้า จะด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อ หรือเหตุผลกลใดไม่ปรากฏชัด คงมีเพียงคำบอกเล่าของผู้พบเห็นร่องรอยการตอกตะปูที่ตาของหลวงพ่อ ที่ตาของหลวงพ่อมีรอยไหลของเลือดติดลูกตาทั้งสองข้างเป็นสีแดงเต็มไปหมด จนมองเห็นได้แต่ไกล นับจากนั้นจึงมีผู้คนเรียกขาน นามหลวงพ่อติดปากกันว่า "หลวงพ่อตาแดง" สืบต่อกันมาตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน
เกี่ยวกับหลวงพ่อตาแดง ยังมีคำบอกเล่าต่อมาอีกว่า เมื่อครั้งก่อนที่พระสมุห์ทองใบ ติกฺขวีโร จะมาประจำอยู่เพื่อทำการบูรณะสร้างวิหารขึ้นมาใหม่นั้น นายเรียม ลัยเลิศ ซึ่งปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙ ขณะเล่าเรื่อง อายุ ๗๖ ปี เล่าให้ฟังว่า เมื่ออายุประมาณ ๔๖ ปี ขณะนั้นได้บวชเป็นพระอยู่ที่วัดสะพาน ท่านได้มีโอกาสเดินลัดสวนมาที่วัดเพลงได้เข้ามาที่วิหารหลวงพ่อตาแดง จะเข้าไปเก็บกวาดกิ่งไม้ทำความสะอาดวิหารหลวงพ่อ แต่ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปใกล้วิหาร ท่านได้เห็นงูขนาดใหญ่ ๒ ตัว นอนขดอยู่ข้างหน้าตักของหลวงพ่อข้างละตัว คล้ายเป็นการอารักษ์ขา แต่พอเดินเข้าไปใกล้ งูทั้ง ๒ ตัวนั้นกลับชูคอขึ้นทำท่าขู่ไม่ให้เข้าใกล้ ไล่ก็ไม่ยอมหนี จึงต้องยกมือขึ้นไหว้หลวงพ่อ และบอกกล่าวว่าจะมาทำความสะอาดวิหารให้หลวงพ่อ ไม่ได้มาทำลายหรือทำสิ่งไม่ดีแต่อย่างใด พอจบคำบอกกล่าวนั้น งูใหญ่ทั้ง ๒ ตัว ก็แสดงอาการสงบและม้วนตัวลงนอนอยู่ที่เดิมไม่หนีไปไหน จนพระเรียมทำความสะอาดวิหารเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับไปยังวัดสะพานตามเวลาอันสมควร